สำรวจ
รีวิว
สอบเข้า
ออนไลน์

ครูสอนพิเศษ คุณภาพอันดับ1

หาครูสอนพิเศษตัวต่อตัว คลิกเลย

ค้นหาด้วยเสียง
ค้นหาด้วยเสียงคลิกที่นี่

» » การส่งสารด้วยการเขียน วิชาภาษาไทยมัธยมต้น

10 พฤศจิกายน 2559

การส่งสารด้วยการเขียน วิชาภาษาไทยมัธยมต้น

การเขียน คือการแสดงความรู้ ความคิด ความรู้สึกและความต้องการของผู้ส่งสารออกไปเป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อให้ผู้รับสารสามารถอ่านเข้าใจ ได้รับทราบความรู้ ความคิด ความรู้สึก และความต้องการเหล่านั้น การถ่ายทอดโดยวิธีบอกเล่าปากต่อปาก หรือที่เรียกว่า มุขปาฐะ อาจทำให้สารตกหล่นหรือคลาดเคลื่อนได้ง่าย

ส่งสารด้วยการเขียน

การส่งสารด้วยการเขียน วิชาภาษาไทยมัธยมต้น

การเขียน  คือการแสดงความรู้  ความคิด  ความรู้สึกและความต้องการของผู้ส่งสารออกไปเป็นลายลักษณ์อักษร  เพื่อให้ผู้รับสารสามารถอ่านเข้าใจ  ได้รับทราบความรู้  ความคิด  ความรู้สึก  และความต้องการเหล่านั้น  การถ่ายทอดโดยวิธีบอกเล่าปากต่อปาก หรือที่เรียกว่า มุขปาฐะ  อาจทำให้สารตกหล่นหรือคลาดเคลื่อนได้ง่าย

ในการเขียนภาษาไทยมีแบบแผนที่ต้องรักษา  มีถ้อยคำสำนวนสำหรับใช้โดยเฉพาะและต้องเขียนให้แจ่มแจ้ง เพราะผู้อ่านไม่สามารถไต่ถามผู้เขียนได้เมื่ออ่านไม่เข้าใจ  ผู้ที่จะเขียนได้ดีจำเป็นต้องเลือกใช้ถ้อยคำให้เหมาะแก่ผู้รับสาร  โดยพิจารณาว่าผู้รับสารสามารถรับสารได้มากน้อยเพียงใด

การเขียนจะมีประสิทธิภาพผู้เขียนจำเป็นต้องมีความสามารถ  ดังนี้

๑.  มีความรู้ดีพอในเรื่องที่จะเขียน
๒.  เลือกรูปแบบเหมาะสมแก่เนื้อหา
๓.  ใช้ถ้อยคำสำนวนเหมาะสมแก่เนื้อหา
๔.  ใช้ถ้อยคำสำนวนมีความหมายชัดเจน
๕.  ใช้ถ้อยคำสำนวนอันเป็นที่ยอมรับว่าเป็นภาษาสุภาพ

กระบวนการเขียนและกระบวนการคิด

กระบวนการเขียนภาษาไทยที่ดีประกอบด้วยความสามารถของผู้เขียนซึ่งมีดังนี้
๑.  เลือกใช้คำที่สื่อความหมายได้แจ่มแจ้ง  ใช้ถ้อยคำกะทัดรัด  เหมาะสมแก่ระดับของผู้อ่านและรูปแบบการเขียน
๒.  เขียนตัวอักษรให้อ่านง่าย  และให้มีขนาดพอเหมาะแก่หน้ากระดาษและความสะดวกของผู้อ่าน
๓.  เขียนถูกต้องตามอักขรวิธี  คำนึงถึงการสะกดคำการใช้เครื่องหมายต่าง ๆ ให้ถูกต้อง
๔.  แต่งประโยคมีใจความบริบูรณ์  ลำดับความให้เข้าใจง่าย  ไม่วกวน
๕.  เว้นวรรคตอน  ช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจสารได้ง่าย
๖.  ขึ้นย่อหน้าใหม่เมื่อมีข้อคิดที่จะเสนอใหม่
กระบวนการคิดมีหลักดังนี้
๑.  เกิดความต้องการที่จะเขียน
๒.  คิดหาวิธี
๓.  เปรียบเทียบและเลือกวิถีทางใดจะยากง่ายกว่ากัน
๔.  แยกแยะว่าจะเริ่มตอนใดก่อน
๕.  ลำดับข้อคิด
๖.  ลงมือเขียน
๗.  ตัดสินใจว่าจะใช้สำนวนภาษาชนิดใด
๘.  หาวิธจบพร้อมทั้งข้อเสนอแนะ

เรียนภาษาไทยที่บ้าน ภูเก็ต หาดใหญ่ ขอนแก่น อุดร ชลบุรี ระยอง เชียงใหม่ นนทบุรี สมุทรปราการ ปทุมธานี

  รูปแบบการเขียน

มี ๒ รูปแบบคือ  ๑) ร้อยกรอง  ๒)  ร้อยแก้ว  ได้แก่
๑.  จดหมาย
-  จดหมายส่วนตัว  เป็นจดหมายที่เขียนถึงกันในวงญาติสนิทมิตรสหาย  หรือถึงครู –
อาจารย์เพื่อส่งข่าวคราว  ไต่ถามทุกข์สุข  แสดงความรักความระลึกถึงที่มีต่อกัน  หรือเล่าเรื่องราวเหตุการณ์ที่น่ารู้  น่าสนใจใคร่ฟัง  ตลอดจนขอความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
-  จดหมายกิจธุระ  เป็นจดหมายที่บุคคลเขียนติดต่อกับบุคคลอื่น  หรือบริษัท  ห้างร้าน องค์การเพื่อแจ้งกิจธุระ เป็นต้นว่านัดหมาย ขอความช่วยเหลือ  ขอสมัครงาน  และขอคำแนะนำเพื่อประโยชน์ในด้านการงานต่าง ๆ 
-  จดหมายธุรกิจ  เป็นจดหมายที่เขียนติดต่อกันในเรื่องเกี่ยวกับพาณิชยกิจและการเงินใน
ระหว่างบริษัท  ห้างร้านและองค์การต่าง ๆ
-  จดหมายราชการ  ทางราชการเรียกว่า  หนังสือราชการ  เป็นจดหมายที่ติดต่อกันเป็นทางราชการ  จากส่วนราชการหนึ่งถึงอีกส่วนราชการหนึ่ง  ข้อความในหนังสือนั้นถือว่าเป็นหลักฐานทางราชการ  และมีสภาพผูกมัดถาวรในราชการ  หนังสือราชการนี้จะต้องมีเลขที่หนังสือและลงทะเบียนรับ – ส่ง ตามระเบียบงานสารบรรณ

กลวิธีการเขียนจดหมายให้มีประสิทธิผล
๑.  ต้องเขียนข้อความให้ชัดเจน  
๒.  ลายมือเรียบร้อย  สะอาด
๓.  ใช้ภาษาไทยถูกต้องตามความหมายและความนิยม
๔.  ใช้แบบฟอร์มที่รับรองว่าถูกต้อง
๕.  ใช้ถ้อยคำตรงไปตรงมาในการเขียนจดหมายราชการ  กิจธุระและธุรกิจ  

๒.  เรียงความ  เรื่องหนึ่ง ๆ ประกอบด้วย
-  หัวข้อ  อาจจะเป็นเรื่องรูปธรรม หรือนามธรรมก็ได้
-  ความนำ  ต้องกระตุ้นความสนใจ  ปูพื้นฐานความเข้าใจ  หรือชี้ให้เห็นความสำคัญของเรื่อง
-  ตัวเรื่อง  ควรมีจุดประสงค์อย่างใดอย่างหนึ่งคือ  ๑)  เพื่อให้ข้อเท็จจริงแก่ผู้อ่าน  ๒)  เพื่อโน้มน้าวใจผู้อ่านให้เชื่อถือหรือคล้อยตามแนวความคิดของผู้เขียน ๓) เพื่อให้ความบันเทิงแก่ผู้อ่าน ๔) เพื่อส่ง -
เสริมให้ผู้อ่านใช้ความคิดของตนให้กว้างขวางยิ่งขึ้น
- ความลงท้าย ซึ่งมีวิธีเขียนได้หลายวิธี ดังนี้ ๑) สังเขปความทั้งหมดให้ได้สาระสำคัญชัดเจน๒) หยิบส่วนสำคัญที่สุดมากล่าวย้ำ ๓) เลือกสุภาษิตคำคมมากล่าวย้ำ ๔) ฝากข้อคิดให้ผู้อ่าน ๕) ทิ้งให้ผู้อ่านคิดต่อไปโดยไม่จำเป็นต้องเสนอ ข้อยุติ
๓.  ย่อความ  เป็นงานเขียนประเภทหนึ่งที่ตัดทอนข้อความที่มีอยู่ยืดยาวให้สั่นลงโดยรักษาสาระสำคัญไว้  ในการย่อความจะเป็นการพูดหรือเขียนก็ตามมีกระบวนการคิดแบบเดียวกัน
เรื่องราวหรือข้อความ  หรือสารในการพูดและการเขียนครั้งหนึ่ง ๆ นั้นประกอบด้วย
ใจความ  คือ  ข้อความที่สำคัญที่สุดถ้านำใจความออกก็จะเปลี่ยนแปลงสารทั้งหมด
พลความ  คือ  ข้อความที่ขยายใจความให้ชัดเจน  ถ้าตัดพลความออกสารที่ส่งมาไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก
เนื้อหาในใจความและพลความมี  ๓  ชนิด  คือ
๑.  ข้อเท็จจริง  คือเรื่องราวหรือเหตุการณ์ที่แสดงสถานที่ไหน  เมื่อไร  ปริมาณหรือขนาดเท่าใด  มีลักษณะอย่างไร  อาจจะเป็นเรื่องราวหรือเหตุการณ์ที่ผ่านมาแล้วหรือกำลังปรากฏอยู่
๒.  ข้อคิดเห็น  เป็นข้อความแสดงความเชื่อหรือแนวคิดหรือความรู้สึกส่วนตัวที่ผู้กล่าวมีต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง  ผู้อื่นอาจจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็ได้
๓.  ข้อความแสดงอารมณ์  ข้อความชนิดนี้ทำให้ผู้รับสารจากบทเขียนหรือบทพูด รู้ได้ว่าผู้ส่งสารมีอารมณ์หรือความรู้สึกเป็นอย่างไรระหว่างที่ส่งสาร  

กระบวนการคิดในการย่อความ

๑.  วิเคราะห์ว่าต้นเรื่องเป็นงานเขียนชนิดใด  เช่น  บทความ  นวนิยาย  บทร้อยกรอง ฯลฯ
๒.  ต้องแยกได้ว่า  สารนั้นเป็นข้อเท็จจริง  ข้อคิดเห็น  หรือแสดงอารมณ์  เริ่มเรื่องอย่างไร  ดำเนินเรื่องอย่างไรและจบอย่างไร  มีฉาก  เหตุการณ์และตัวละครสำคัญ ๆ อะไรบ้าง
๓.  พยายามตีความต้นเรื่องว่า  ผู้เขียนมีจุดมุ่งหมายอย่างไร  เช่น  เพื่อให้ความรู้  เพื่อโน้มน้าวใจ  เป็นต้น พิจารณาหาใจความและพลความ

การย่อความเพื่อประโยชน์ในการศึกษา

๑.  การบันทึกรายงานการประชุม    เป็นหน้าที่ของเลขานุการกลุ่ม  เพื่อจะนำเสนอต่อที่ประชุม  เป็นการเขียนรายงานสั้น ๆ หรือย่อความนั่นเอง  การย่อความแบบนี้มิใช่เป็นการตัดความให้สั้น  แต่เป็นการคัดเลือกข้อความที่สำคัญจากผู้พูดหลายคนมาเรียบเรียงใหม่
๒.  การย่อความรู้จากหนังสือเรียน  หรือคำอธิบายของครูทำเป็นสังเขปเรื่อง  เพื่อสะดวกในการทบทวนบทเรียน
๓.  การเขียนคำตอบข้อสอบแบบอัตนัย  ต้องอาศัยความสามารถในการย่อความ  เพราะต้องย่อความรู้ทั้งหมดให้เหลือข้อความสั้น ๆ ที่จะเขียนตอบให้เสร็จภายในเวลาที่กำหนดให้

Total Rating ✔

9.2 stars – 2,789 reviews

More Reviews

แสดงความคิดเห็น

การส่งสารด้วยการเขียน วิชาภาษาไทยมัธยมต้น

บทความจาก TutorFerry