สำรวจ
รีวิว
สอบเข้า
ออนไลน์

ครูสอนพิเศษ คุณภาพอันดับ1

หาครูสอนพิเศษตัวต่อตัว คลิกเลย

ค้นหาด้วยเสียง
ค้นหาด้วยเสียงคลิกที่นี่

» » สุดท้าย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทรงผมหรือไม้เรียว ถ้าเราถอดออกมามันจะมาจบอยู่ที่ คุณครูรอไม่เป็น [นะโม-ชลิพา ดุลยากร]

04 มิถุนายน 2563

สุดท้าย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทรงผมหรือไม้เรียว ถ้าเราถอดออกมามันจะมาจบอยู่ที่ คุณครูรอไม่เป็น [นะโม-ชลิพา ดุลยากร]

มีคนเคยบอกว่า เอาครูฟินแลนด์มาอยู่ในระบบไทย สักวันหนึ่งครูคนนี้ก็จะลาออกไปเอง แต่ถ้าเราเอาครูที่อาจไม่ได้อยากเป็นครูมากไปอยู่ในระบบฟินแลนด์ วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อมและระบบตรงนั้นก็อาจทำให้เขาอยากเป็นครูที่ดีขึ้นในทุกๆ วันก็ได้

สุดท้าย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทรงผมหรือไม้เรียว ถ้าเราถอดออกมามันจะมาจบอยู่ที่ คุณครูรอไม่เป็น [นะโม-ชลิพา ดุลยากร]

ในโลกของครู ทุกการสอนเป็นไปได้ (inSkru )

นะโม-ชลิพา ดุลยากรAUTHOR : PIMCHANOK PUKSUK

มีคนเคยบอกว่า เอาครูฟินแลนด์มาอยู่ในระบบไทย สักวันหนึ่งครูคนนี้ก็จะลาออกไปเอง แต่ถ้าเราเอาคนที่อาจไม่ได้อยากเป็นครูมากไปอยู่ในระบบฟินแลนด์ ระบบตรงนั้นก็อาจทำให้เขาอยากเป็นครูที่ดีขึ้นในทุกๆ วันก็ได้

นั่นนับเป็นหนึ่งในหลายร้อยประโยคที่ นะโม-ชลิพา ดุลยากร ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ insKru พื้นที่แบ่งปันไอเดียการเรียนการสอน คุยกับเราในบ่ายแก่ๆ ในอาคารใจกลางเมือง กับประเด็น ‘การศึกษา’ ที่ผ่านการถกเถียง วิเคราะห์และชำแหละจากคนในสังคมมามากต่อมาก และเป็นอีกหนึ่งหัวข้อที่หลายคนยกธงขาว ยอมแพ้ด้วยความรู้สึกสิ้นหวังว่าไม่อาจแก้ไขอะไรให้ดีขึ้นได้

แต่ไม่ใช่กับนะโมและชาวเว็บ insKru -ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคุณครู- ที่ยังกัดฟัน ขยับขยายหาความเป็นไปได้ในการจะรังสรรค์พื้นที่ โอกาสใหม่ๆ ในการสร้างโลกการเรียนรู้ให้เด็กมีความสุข และเป็นโลกใบเดียวกับที่ครูสนุกที่จะได้สอน แลกเปลี่ยนประสบการณ์

ใครกันบอกว่าโลกใบนั้นสร้างไม่ได้ นะโมและชาว insKru เห็นแย้งว่า มันแค่ ‘ยัง’ ไม่ถูกพวกเราสร้างขึ้นมาต่างหาก!

เด็กนักเรียน = หุ่นยนต์ในระบบการศึกษาไทย

เรารู้สึกว่าเด็กเหมือนเป็นหุ่นยนต์นั่งในห้องเรียน เราเป็นคนหนึ่งที่เป็นแบบนั้นเลยนะ ไม่เคยตั้งคำถามอะไร เป็นเด็กเรียนเก่งด้วย (หัวเราะ) ทำข้อสอบได้ เราเรียนเพื่อสอบจริงๆ เราเคยได้แอดมิชชั่นอันดับสองของประเทศ แต่แม่งไม่มีผลอะไรกับชีวิตเลย เพราะตอนนั้นเรียนเพื่อสอบอย่างเดียว เราเรียนแล้วเราทำข้อสอบได้ แต่เราไม่เข้าใจอะไรสักอย่างเลย

จนเข้ามหาวิทยาลัย มาเรียนรู้เรื่องระบบการศึกษา ก็เข้าใจว่าการเรียนรู้มันไม่ใช่แบบนี้นี่นา แต่ก่อนเรายังเคยคิดเลยว่าจะไปทำแอปพลิเคชั่นที่ให้เด็กมีความสุขในการติวสอบมากขึ้น แล้วก็รู้สึกว่า แม่งไม่อินเลยว่ะ ผิดทางแล้ว

เราเสียดายชีวิตช่วงนั้นนะ แต่ยังดีที่อาจารย์ชอบส่งเราไปทำประกวด ทำสารคดี เลยคิดว่าก็ยังดีหน่อย แต่คิดถึงเด็กที่เขาต้องเรียนอย่างเดียวสิ มันแบบ…(ยกมือกุมหัว) เสียดายเวลาวัยเด็ก ความสุขของวัยเด็กที่จะได้สำรวจ ได้คิดอะไรสร้างสรรค์

คือเราสนใจเรื่องการศึกษามาตั้งแต่เด็ก ชอบไปสอนเด็กอาข่าบนดอย มีความสุขกับการได้สอนหนังสือ เห็นรอยยิ้มของเด็กๆ แล้วเราจะทำยังไงเพราะรู้สึกว่าประสบการณ์ในห้องเรียนของเด็กๆ ไม่เหมือนตอนที่เราไปสอน ตอนแรกสนแค่ทำยังไงให้เด็กๆ มีความสุข แต่หลังจากนั้นก็สนใจว่าจะทำยังไงให้ครูสอนเด็กๆ ให้เป็นแบบนั้นได้

แต่ว่าเราก็ไม่อยากเรียนคณะครุศาสตร์นะ แล้วมาเจอคณะสถาปัตย์ ออกแบบอุตสาหกรรม มีคนบอกว่าเรียนคณะนี้ออกแบบอะไรก็ได้แม้กระทั่งอาชีพตัวเอง ก็เลยเรียนคณะนี้แหละ แล้วค่อยคิดว่าจะไปออกแบบการศึกษายังไงได้บ้าง (หัวเราะ) ไม่ต้องเป็นครูก็ได้ แล้วมาคิดว่างานออกแบบจะมาช่วยสังคมหรือการศึกษายังไงได้บ้าง

คนเป็นครูแต่ไม่อยากเรียนครุศาสตร์ (?)

อาจจะเป็นที่…(คิด) คืออย่างเรา เราเป็นคนชอบความคิดสร้างสรรค์หรืออะไรที่มันใหม่ๆ โดยนิสัย แต่พอเราจะเข้าคณะนี้ก็จะมีคนบอกแล้วว่า เดี๋ยวความคิดสร้างสรรค์จะหายนะ เดี๋ยวจะโดนกลืนกินนะ เราก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไมทุกคนถึงบอกแบบนี้

แต่เท่าที่เราฟังเพื่อนมา มันก็มีความเหมือนเดิมมาโดยตลอดนะ เช่น กี่ปีๆ ก็พูดเรื่องสื่อการสอนอย่างกระดานสำลี (สื่อแผ่นผ้ายชนิดหนึ่ง) ทั้งที่ในเวลานี้ มันมีสื่อการสอนใหม่ๆ ออกมาเยอะแยะเต็มไปหมด แล้วเขาสอนให้ทำแบบนี้ แต่ไม่ได้สอนให้คิดว่า สื่อการสอนใหม่ๆ มันสามารถมีอะไรได้บ้าง เขาสอนว่า มันมีแบบนี้นะ แล้วลองทำแบบนี้มาส่งหน่อย

แต่มันก็มีแหละ บางที่ที่มันเปลี่ยนไปแล้ว แต่บางที่ก็ยังดูจะเหมือนเดิม และเราก็ได้ยินเสียงบ่นมาเยอะ แล้วมันก็จะนำมาที่คำถามว่า คุณครูหายไปไหน มีระหว่างทางด้วยที่พอได้ไปฝึกสอนแล้ว ก็ไม่อยากเป็นครูอีกเลย

สมมุติว่าคนคนนี้มีอุดมการณ์ มีความฝันว่าอยากทำห้องเรียนให้เป็นแบบนี้ๆ แต่สุดท้ายพอไปสอนจริงๆ ไปอยู่กับบริบทนั้นๆ เช่น เจอครูพี่เลี้ยงที่บอกว่าถ้าสอนแบบนี้เดี๋ยวเด็กไม่ได้เนื้อหานะ เธอต้องสอนแบบนี้ๆ สุดท้ายจากที่เขาอยากทำห้องเรียนให้สนุก มันก็รู้สึกอึดอัด เพราะคนมีอุดมการณ์แบบหนึ่งต้องมาเจอความจริงอีกแบบหนึ่ง

สางปัญหาการศึกษาไทย

พอมาทำ insKru แล้วก็มีคนมาเล่า เรื่องระบบราชการ ระบบอาวุโส เป็นการ top-down จากข้างบนลงมาข้างล่าง สังเกตได้ง่ายๆ เลยคือ เหตุการณ์ปัจจุบันที่เราเจอ COVID-19 ถึงแม้ข้างบนจะบอกว่าให้อิสระโรงเรียนเต็มที่ ตัดสินใจด้วยตัวเองได้เลยว่าจะทำยังไง DLTV (สถานีวิทยุโทรทัศน์การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม) เป็นเหมือนพื้นฐานที่เขาเตรียมไว้ให้สำหรับโรงเรียนที่จำเป็นต้องใช้

สุดท้ายแล้วข้อความที่ส่งต่อกันมาเป็นทอดๆ มันบอกเพี้ยนไประหว่างทาง กลายเป็นว่าทุกคนไม่มั่นใจในตัวเอง ผอ. ก็ไม่กล้าในการตัดสินใจ รอข้างบนอีกที รอให้ข้างบนออกคำสั่ง คือมันมีความย้อนแย้งที่ยุ่งเหยิงพันกันระดับหนึ่งเลยในเรื่องวัฒนธรรม ซึ่งเรามองว่าถ้าแก้ตรงนี้ได้มันก็จะปลดล็อคเลย เหมือนต้อง empower คนที่บริหารโรงเรียนและชุมชนรอบๆ นั้นให้เขาสามารถดูแลกันเองได้ โดยเป็นอิสระจากความกลัวที่ต้องโดนประเมิน โดนจับตาว่าทำผิดหรือเปล่า

จริงๆ แล้วมันมีพื้นที่ที่ปลดล็อคอยู่นะ เป็นพื้นที่นวัตกรรมที่จังหวัดระยอง TDRI (Thailand Development Research Institute – สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย) และหน่วยงานเครือข่ายภาคีทางการศึกษา เขาก็ขับเคลื่อนเรื่องนี้ ไปทำเรื่อง พ.ร.บ. ขอให้ปลดล็อคพื้นที่นี้ มีอิสระกว่าพื้นที่อื่นๆ เพื่อทดลองดูว่าเมื่อเป็นอิสระแล้วจะดีขึ้นไหม และรู้สึกว่าเครือข่ายตรงนั้นเข้มแข็งมาก มี ผอ. ที่กล้าคิดกล้าทำมาก รู้สึกมีความหวัง (หัวเราะ)

คุณครูรุ่นใหม่ในระบบรุ่นเก่า

ทุกคนบ่นถึงระบบหมด คือระบบกับวัฒนธรรม มันก็พูดยาก เพราะมันเป็นเรื่องที่หล่อหลอมกันมาช้านานแล้ว คือระบบมันอาจจะเปลี่ยนง่าย แต่ถ้ามันเปลี่ยนแล้ววัฒนธรรมยังเป็นเหมือนเดิมล่ะ มันก็เจ๊ง

มีคนเคยบอกว่า เอาครูฟินแลนด์มาอยู่ในระบบไทย สักวันหนึ่งครูคนนี้ก็จะลาออกไปเอง แต่ถ้าเราเอาครูที่อาจไม่ได้อยากเป็นครูมากไปอยู่ในระบบฟินแลนด์ วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อมและระบบตรงนั้นก็อาจทำให้เขาอยากเป็นครูที่ดีขึ้นในทุกๆ วันก็ได้

คือมีคนเคยพูดว่าการเติบโตในอาชีพสายงานนี้มันค่อนข้างยาก น่าเบื่อและไม่เซ็กซี่ เข้าไปเป็นราชการ ทำผลงานแข่งกัน ทำเรื่องเลื่อนวิทยฐานะอีก มีแต่คนบอกว่ามันต้องทำเอกสารเยอะมาก จนมีคนไปจ้างให้คนอื่นทำให้เป็นแสนๆ ก็มี แล้วมันก็ไม่ได้บ่งบอกเลยว่าห้องเรียนของเขาเป็นยังไง บางคนอาจจะแค่มุ่งทำเอกสารก็สามารถข้ามผ่านเส้นทางนี้ได้ แต่ในขณะเดียวกัน คนที่โฟกัสที่การทำห้องเรียน เขาก็ไม่มีเวลามาทำอะไรแบบนี้ก็มีนะ

มีคุณครูคนหนึ่งเคยเล่าให้เราฟังว่า ตอนนี้เขาจบปริญญาโทแล้ว ตอนนี้เขายังได้เงินเดือน 20,000 อยู่เลย แล้วเป็นครูมาก็ตั้งหลายปีแล้ว ก็ยังได้เงินเท่านี้อยู่ เขารู้สึกว่าถ้าฉันไปทำอย่างอื่นฉันน่าจะได้เงินเยอะกว่านี้นะ แต่ฉันก็มีความสุขกับการเป็นครู มันก็ต้องอยู่ให้ได้ ทีนี้ มันจะไปบ่มเพาะค่านิยมของการให้ครูเป็นผู้เสียสละ ส่งข้อความนี้ซ้ำๆ รัฐทำได้แค่ส่งแมสเสจนี้ แต่ไม่ได้ทำอะไรให้ดีขึ้นเลย แต่อันที่จริง คุณครูที่มีอายุการทำงาน มี ค.ศ. สูงๆ ก็ได้ค่าตอบแทนเยอะนะ

แล้วอีกอย่าง พอเป็นคุณครูก็อาจจะต้องไปพื้นที่ต่างจังหวัด อย่างแรกคือระบบการขนส่งของบ้านเราไม่ได้มีขนาดนั้น ฉะนั้น เขาก็ต้องซื้อรถ แล้วตอนนั้นเขามีเงินเดือนเท่าไหร่เอง นี่อาจจะเป็นปัจจัยแรกๆ เลยมั้ง คือแม้อาชีพนี้มันจะดูมั่นคง แต่กว่าจะมั่นคงล่ะ

เท่าที่สังเกตดูคุณครูที่กล้าออกมาทำอะไรใหม่ๆ แปลกๆ เช่น ครูกุ๊กกั๊ก (ร่มเกล้า ช้างน้อย – ครูสอนคณิตศาสตร์แห่งโรงเรียนมัธยมวัดดุสิตาราม) ที่ส่งเอกสารหน้าเดียวแล้วมีแค่ QR code ขณะที่คนอื่นมาเป็นแฟ้มเลย คนที่กล้าทำอะไรแบบนี้ก็จะมีเซฟตี้ทางการเงินอยู่พอสมควร อย่างครูกุ๊กกั๊กทำงานพากย์เสียงหาเงินได้ หรือมักจะมีคนเชิญไปสอนที่โน่นที่นี่ ฉะนั้น เรื่องเงินเขาจึงไม่เดือดร้อนและกล้าทำอะไรแบบนี้ แต่สำหรับคนอื่นๆ เขาอาจจะไม่กล้าเพราะว่ากลัวทำไปแล้วไม่ถูกใจ ผอ. ก็จะโดนกดหรือไม่ได้ผุดได้เกิด มันมีเรื่องน่ากลัวๆ แบบนี้อยู่

นี่คือเป้าหมายหนึ่งของ insKru เลยค่ะ เป้าหมายแรกของเราคืออยากเห็นเด็กทุกคนได้เรียนรู้อย่างมีความสุขและมีความหมายจากคุณครูของพวกเขาเอง ส่วนเป้าหมายที่สองคือ อยากให้อาชีพครูเป็นอาชีพที่ใครๆ ก็อยากเป็น (หัวเราะ) เป็นเป้าหมายที่ดูไกลโพ้นมากเลยเนอะ แต่นั่นคือเหตุผลว่าทำไมเราจึงอยากสร้างมู้ดใหม่ของการเป็นครู อยากให้ครูดูเป็นอาชีพที่ครีเอทีฟไม่แพ้คนในวงการสตาร์ตอัพหรือในโลกธุรกิจ แล้วเราเลยพยายามเอาศาสตร์เหล่านี้มาใส่ในวงการ เช่น design thinking, visual thinking หรือแม้กระทั่งชวนครูมาทำอะไรสร้างสรรค์ๆ ด้วยกัน เช่น ในเพจก็จะมีชวนตั้งคำถามว่า ถ้าไม่เคาะกระดานให้เด็กเงียบ จะทำอะไรได้บ้าง (หัวเราะ) ครูเขาได้ออกมาปลดปล่อยอะไรบางอย่างในพื้นที่นี้ หรือแม้กระทั่งเรื่องไม้เรียว เรื่องหน้าเสาธง หรือว่าเรื่องตัดผม

เราพยายามตั้งคำถามโดยไม่ได้วางตัวอยู่ฝั่งไหน แต่ด้วยฐานของลูกเพจเราที่ค่อนข้างเป็นแนวคิดใหม่ ก็จะเป็นเสียงส่วนใหญ่ในพื้นที่นี้ แต่เชื่อเถอะว่าถ้าโพสต์นี้ไปโพสต์ที่เพจอื่นๆ มันอาจจะกลายเป็นเสียงส่วนน้อยก็ได้ แต่เราว่ามันเป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจ และเราพยายามลองทำตรงนี้เรื่อยๆ

อย่างประเด็นล่าสุดเรื่องทรงผม ที่มีการให้อิสระเด็กๆ ได้ไว้ทรงผมกัน เราก็ตั้งคำถามไปว่า พอให้อิสระแล้วจะเกิดผลกระทบอะไรบ้าง ซึ่งก็มีคนเข้ามาตอบว่าไม่มี เพราะมันไม่ได้มีผลอะไรจริงๆ แต่บางคนก็บอกว่ามีผลเชิงบวกนะ เพราะเด็กๆ จะรู้สึกเป็นอิสระมากขึ้นและได้รับผิดชอบตัวเอง อีกคนหนึ่งก็มาบอกว่าผลกระทบเหรอ อ๋อ ก็เป็นเหาไง (หัวเราะ) ซึ่งจะมีคนมาเถียงว่า แล้วเป็นเหามันแก้ที่ทรงผมเหรอ มันไม่ได้แก้ที่ความรับผิดชอบของเด็กเหรอ มันจะมีการถกเถียงกันขึ้นมา

อย่างเรื่องไม้เรียว มีคุณครูมาพูดว่าเขาได้ดีเพราะไม้เรียวจริงๆ นะ แล้วก็มีคนมาแย้งแหละ ด้วยการถามกลับไปว่า ถ้าไม่ใช้ไม้เรียวมันก็ได้ดีเหมือนกันหรือเปล่า ซึ่งอย่างน้อยที่สุด มันทำให้เขาได้กลับมาทบทวนสิ่งต่างๆ ที่มันเป็นอยู่

เมื่อโรงเรียนไม่ได้เป็นพื้นที่ปลอดภัยของคุณครูและเด็ก

โรงเรียนไม่ได้เป็นพื้นที่ปลอดภัยของคุณครูและเด็ก ทุกคนจะบอกว่ามันไม่ใช่พื้นที่ของการรับฟังกัน ตั้งแต่ครูไม่ได้รับฟังเด็ก ผอ. ก็ไม่ได้รับฟังครู มันไม่ได้เป็นการหาทางออกร่วมกันแต่จะเป็นเรื่องของการไม่รู้ไม่ชี้ สั่งงานอย่างเดียว

ลองคิดดูว่าบริษัทข้างนอก เช่น Google เขาพัฒนาวัฒนธรรมในองค์กรไปขนาดไหนแล้ว แต่โรงเรียนยังเป็นพื้นที่ที่ดูมีแต่คนที่เต็มไปด้วยความทุกข์ แล้วตลกมากเพราะถ้าเราไปอ่านหนังสือของต่างประเทศ เขาก็มีปัญหานี้เหมือนกัน (หัวเราะ) มีหนังสือเล่มหนึ่งที่เขาเล่าเรื่องโรงเรียนในอเมริกา เขาเล่าว่า ครูที่มีไฟ ที่ทำอะไรในห้องเรียนที่แตกต่างจากคนอื่น มักจะโดนเพ่งเล็ง ซึ่งมันคล้ายกับโรงเรียนในไทยมาก เพราะแต่ละโรงเรียนก็จะมีครูสองสามคนที่กระตือรือร้น มีแนวคิดใหม่ๆ แต่สุดท้ายเขาก็จะรู้สึกอึดอัด

อย่างที่ญี่ปุ่นหรือฟินแลนด์ กฎห้องเรียนของฟินแลนด์ที่เราชอบมากๆ คือ หนึ่ง-เคารพตัวเอง สอง-เคารพผู้อื่น และสาม-เคารพสิ่งแวดล้อม จบแล้วในสามข้อ

เราว่าการเคารพตัวเองมันเป็นคำที่อะเมซิ่งมาก มันเอาไว้ใช้กับชีวิตได้ตลอดเลย เช่นเดียวกับคำว่าเคารพผู้อื่น อย่างคนญี่ปุ่น เวลาลูกส่งเสียงดังพื้นที่สาธารณะ เขาจะรีบจัดการลูก แล้วขอโทษคนรอบๆ เลย เคารพคนอื่นมากๆ มีความเป็นพลเมืองสูง ช่วยกันดูแลสิ่งแวดล้อมให้สะอาด เคารพสิ่งแวดล้อม

สุดท้าย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทรงผมหรือไม้เรียว ถ้าเราถอดออกมามันจะมาจบอยู่ที่ คุณครูรอไม่เป็น


อย่างแรกคือ ครูคิดว่าเด็กคิดไม่เป็น และอย่างที่สองคือ รอไม่เป็น เช่น เด็กทำพฤติกรรมที่เรารู้สึกว่าน่าเป็นห่วง เรียกเด็กมาคุยเพื่อพูดคุย แล้วบางทีคุณครูก็พูดคุยไม่เป็นด้วย ด้วยความเป็นห่วง หวังดี ก็จะบอกเด็กว่าทำไมทำอย่างนี้ สั่งสอน ดุ แต่มันไม่ใช่การพูดคุยที่ให้อีกฝั่งหนึ่งได้พูดบ้าง นี่เป็นด่านแรกที่ผิดละ

หรือถ้าคุณครูคิดแบบใหม่ ว่าเราต้องไปพูดคุยกับเด็กนะ ให้เด็กได้พูดบ้าง คุยเหมือนเพื่อน แต่รอผลลัพธ์ไม่เป็น คือพอเด็กไปทำผิดอีกรอบ เขาก็รู้สึกว่าวิธีนี้ไม่ได้ผลละ คุณครูเลยมาเลือกใช้วิธีรุนแรงแทน ซึ่งมันได้ผลไง อย่างน้อยก็ในระยะสั้น เหมือนความรุนแรงเป็นท่าไม้ตายที่ไม่รู้จะทำยังไงแล้ว เลยต้องเลือกใช้วิธีนี้

แต่เราเข้าใจครูนะ คือคงไม่รู้จะทำยังไงแล้วจริงๆ ครูรู้สึกเขาไม่มีทางออก ชอบมีคุณครูมาบอกเพจเราว่า คุณก็ไม่ได้เป็นครูจริงๆ นี่ ลองมาเจอเด็กของเขาสิ ที่เป็นเด็กที่โดนพ่อแม่ตีมาบ่อยๆ เด็กเรียนรู้มาแบบนั้นแล้วจากที่บ้าน จะมาใช้การกระทำอีกแบบได้เหรอ คือคุณครูก็มีเหตุผลของเขา เมคเซนส์อยู่นะ คุณครูก็ลองพูดคุยแล้วแต่เด็กไม่ยอมคุยไง ซึ่งเราไม่รู้หรอกว่าเขาลองจริงไหม แต่ถ้าเขาลองแล้วมันไม่ได้ผลจริงๆ เราก็เข้าใจนะ มันเหมือนครูเขาก็ลองทุกวิธีแล้ว และก็รอดูผลลัพธ์ไม่ได้ ระหว่างที่เขาให้โอกาสเด็ก เด็กเขาไปทำอย่างอื่น เลยต้องลงเอยด้วยวิธีนี้

เป็นคุณครูก็เครียดนะ!

เรื่องจัดการเด็กเป็นปัญหาแรกๆ เลยค่ะ แล้วไม่ใช่แค่มานั่งคุยกับเด็กด้วยนะ เหมือนเด็กเขาก็แบกเรื่องที่บ้านมา

ตัวเรารู้สึกยอมรับได้นะ ถ้าครูคนหนึ่งจะยึดจิตวิทยาเชิงบวกเป็นหลัก หมายถึงลองเปิดความเป็นไปได้ที่จะไม่ใช้ความรุนแรงกับเด็ก เชื่อว่ามันจะนำไปสู่ทางออก แล้วเขาลองหลายๆ วิธีเพื่อหาทางแก้ไขปัญหา แต่ถ้าใครที่ยอมแพ้เร็ว เราว่ามันไม่แฟร์สำหรับเด็กหรือเปล่า ในการให้โอกาสเขาในการคิด ให้พื้นที่เขาบ้าง

แต่ก็จะมีครูที่เชื่อเรื่องจิตวิทยาเชิงบวกจริงๆ แล้วเขาก็จัดการเด็กได้ด้วย แต่มันก็พูดยาก เพราะแต่ละเคสมันก็ไม่ค่อยเหมือนกัน บริบทแตกต่างกัน หรือชีวิตส่วนตัวเองครูเอง พอเงินเดือนไม่พอ เขาก็ต้องเอาเวลาไปทำอย่างอื่น สอนพิเศษ ขายของออนไลน์ แทนที่จะได้เอาเวลาไปอยู่กับเด็กจริงๆ

เคยเจอครูที่อุดมการณ์หนาแน่นมาก แต่ก็จะเป็นครูที่ไม่เดือดร้อนอะไร เช่น อีกห้าปีจะเกษียณแล้ว เขารู้สึกว่า DLTV ไม่เหมาะกับเด็กๆ ของเขาเลย เพราะเด็กในชั้นเรียนของเขาต้องการทักษะชีวิต ต้องการปลูกผักได้ ก็ใช้เวลาวันเสาร์-อาทิตย์ ไปจัดกิจกรรมกับเด็กสักห้าคน พาไปปลูกผัก เรียนทำผ้ามัดย้อม ซึ่งเขาออกเงินเพื่อหาอุปกรณ์อะไรเองด้วย สุดยอดความเสียสละเลย คือเขาไม่แคร์เรื่องการทำเอกสารกับเรื่องเงินเดือนแล้ว ครูที่อยู่ในเพจเราจะแนวๆ นี้ มีอุดมการณ์ มีเป้าหมายหลักคือเด็ก


‘ทุกการสอนเป็นไปได้’ เรื่องราวจักรวาลชวนหัวของคุณครูในหนังสือหนึ่งเล่ม

เราว่ามันเปลี่ยน mindset ด้วย เช่น ครูปกครองในรูปแบบที่ยิ้มแย้มแจ่มใส จะยังเป็นครูปกครองได้ไหม เราเขียนเรื่องครูที่เป็นผู้ปกครองใจดีมาใส่ในหนังสือ หรือการประชุมผู้ปกครองที่ไม่ใช่แค่การให้ผู้ปกครองมาจ่ายเงิน มีใบเสร็จ มันมีความเป็นไปได้อื่นๆ ที่เป็นด้านดีๆ ของการศึกษาอยู่ในเล่มนี้ และเราคาดหวังว่าพอคนอ่านก็จะช่วยเปิดโลกเขานะ

มีเรื่องครูเชื่อไหมว่า เด็กกับครูเท่ากับ เรียนรู้แลกเปลี่ยนกันได้ หรือครูรู้สึกว่ามีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งสูงกว่ากัน หรือเรื่องความรู้ ครูเชื่อว่าความรู้เป็นแบบไหน เป็นการส่งต่อแบบฉันเอาความรู้ให้เธอ หรือความรู้เป็นสิ่งที่สร้างขึ้นได้ด้วยตัวเอง เช่น เรื่องการแยกขยะ มันเป็นเรื่องความจำว่าอันนี้มันคืออะไร ขยะแบบไหน แต่เราไม่ได้เข้าใจว่าก่อนที่มันจะแบ่งออกเป็นการแยกประเภทขยะสามแบบนี้มันคืออะไร ก็มีครูเอาขยะมากองรวมกันหลายๆ แบบ แล้วให้เด็กๆ ลองคิดจัดรูปแบบมันซิว่าอะไรควรรวมกับอะไรโดยอิสระ หรืออย่าง animals kingdom ก็มีคุณครูให้เอาสัตว์มากองรวมกัน แล้วให้เด็กๆ จัดกลุ่มประเภทสัตว์เหล่านี้ตามความคิดของตัวเอง แล้วเขาก็ถกเถียงกันว่าทำไมฉันแบ่งแบบนี้ เธอแบ่งแบบนี้ แล้วทำไมในหนังสือเรียนแบ่งแบบนี้ มันจะเข้าใจไปถึงว่า ทำไมความรู้ตรงนี้ถึงเกิดขึ้น มันเป็นความเข้าใจที่สนุกกว่า

เราเขียนหนังสือ ทุกการสอนเป็นไปได้  ขึ้นมาโดยการโทรศัพท์ไปถามคุณครู เหมือนเป็นประสบการณ์สองปีที่เราไปเจอเรื่องดีๆ ในระบบการศึกษา เห็นความเป็นไปได้ที่ดีในด้านอื่นๆ ที่เราไปเจอมา บทืแรกๆ จะพูดเรื่อง mindset เรื่องของคุณครูคนหนึ่งที่เจอเด็กเกเรมาก แบบเอาขาขึ้นมาวางบนโต๊ะ พอเลิกเรียน คุณครูก็เดินไปตบไหล่เขาแล้วก็บอกว่า ช่วงนี้หนูเป็นยังไงบ้าง แล้วเด็กคนนี้ก็ร้องไห้ออกมาเลย โห เรื่องนี้เล่าแล้วขนลุก อยากให้อ่าน

มันเป็นเรื่องราวของคุณครูกับนักเรียนที่เราคิดว่า ถ้าอ่านแล้วจะเปิดความเป็นไปได้ว่า อ๋อ ทำแบบนี้ได้นี่นา แล้วก็เอาไปใช้ได้ด้วย เพราะมี QR code ที่ลิงค์ไปที่ไอเดียการสอน เราอยากให้เรื่องนำ ถ้าคนอ่านสนใจว่าถ้าเขาอยากเป็นแบบนี้บ้างจะต้องทำยังไง ก็กดไปอ่านได้ เหมือนเป็นสารานุกรมเพราะเว็บเพจเรามีสื่อการสอนเต็มไปหมดเลย แต่เราเอามาใส่หมดไม่ได้ หนังสือทั้งเล่มเลยเป็นเสมือนสารบัญของเว็บ

ทุกการสอนเป็นไปได้ เราอยากให้มันเกิดเซนส์นี้ในการศึกษา คือมันเป็นไปได้! แต่เราอยากจำกัดวงให้ใกล้ตัวที่สุดคือเรื่องการสอน ทุกการสอนเป็นไปได้ ที่เราลองพูดแบบนี้บ่อยๆ ลงเพจ ก็มีครูเริ่มติดแฮชแท็ก #ทุกการสอนเป็นไปได้ เหมือนกัน โชว์ห้องเรียนของเขา เรารู้สึกสิ่งสำคัญที่สุดที่หายไปคือความเป็นไปได้ เหมือนทุกคนเจอปัญหาอะไรก็แก้ด้วยวิธีที่ง่ายที่สุดหรือวิธีที่คุ้นเคยที่สุด ซึ่งมันเหมือนปิดความเป็นไปได้อื่นๆ ไปแล้ว วิธีนั้นที่เขาแก้อาจจะเป็นวิธีที่ทำให้เด็กเจ็บปวดก็ได้นะ แต่เขาไม่ได้ลองเปิดความเป็นไปได้ว่าอาจจะมีวิธีที่แก้ไขปัญหาได้เหมือนกัน แล้วทำให้เด็กมีความสุขกว่า เราเลยอยากแสดงให้เห็นความเป็นไปได้ และอยากชวนกันคิด

อย่างช่วงหลังๆ จะเป็นเรื่องความเป็นไปได้ของการมีความเป็นไปได้อยู่เสมอ (หัวเราะ) เช่น พลังของคำว่า ‘ยัง’ คือถ้าเจอเรื่องนี้แล้วยังทำไม่ได้ ให้พูดว่าเรา ‘ยัง’ ทำไม่ได้ ไม่ใช่พูดว่า เราทำไม่ได้ คืออย่าเพิ่งเปิดความเป็นไปได้ เพราะส่วนใหญ่ครูจะชอบพูดว่า ไม่ได้ก็ไม่ได้ เจออะไรก็ปิดไปเลย ทำไม่ได้หรอกเพราะ ผอ. มันอย่างนั้น ทำไม่ได้หรอกเพราะระบบเป็นอย่างนี้ แล้วมันเป็นสิ่งที่ไม่ใช่แค่ครูหรอกที่พูด แต่คนในสังคมก็พูด การศึกษาเปลี่ยนไม่ได้หรอก ระบบเปลี่ยนไม่ได้หรอก เราเลยอยากคืนความเป็นไปได้กลับมาสู่การศึกษาน่ะI

AUTHOR : PIMCHANOK PUKSUK
ที่มา : https://thecuratorclub.co/inskru-chalipa-dulyakorn/

Total Rating ✔

9.2 stars – 2,789 reviews

More Reviews

แสดงความคิดเห็น

สุดท้าย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทรงผมหรือไม้เรียว ถ้าเราถอดออกมามันจะมาจบอยู่ที่ คุณครูรอไม่เป็น [นะโม-ชลิพา ดุลยากร]

ทุกการสอนเป็นไปได้, บทความจากหนังสือ