สำรวจ
รีวิว
สอบเข้า
ออนไลน์

ครูสอนพิเศษ คุณภาพอันดับ1

หาครูสอนพิเศษตัวต่อตัว คลิกเลย

ค้นหาด้วยเสียง
ค้นหาด้วยเสียงคลิกที่นี่

» » สรุปวิชาสังคมศึกษา เรื่องความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับกฎหมาย

29 ธันวาคม 2559

สรุปวิชาสังคมศึกษา เรื่องความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับกฎหมาย

ความหมายของกฎหมาย การรู้นิยามของกฎหมายนับเป็นสิ่งจำเป็นในการศึกษาเรื่องกฎหมาย กฎหมายเป็นข้อบังคับ หรือ คำสั่ง รัฐบัญญัติขึ้น เพื่อกำหนดความประพฤติของพลเมืองในสังคมของตน ถ้าไม่ปฏิบัติตามย่อมถือเป็นความผิดและต้องได้รับโทษ - Tutor Ferry สอนพิเศษที่บ้าน

วิชาสังคมศึกษา มัธยมต้น

เรื่องความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับกฎหมาย

รับสอนสังคม ตัวต่อตัวที่ จ.เชียงใหม่ สันทราย สันกำแพง แม่ริม





ความหมายของกฎหมาย

การรู้นิยามของกฎหมายนับเป็นสิ่งจำเป็นในการศึกษาเรื่องกฎหมาย  กฎหมายเป็นข้อบังคับ  หรือ คำสั่ง  รัฐบัญญัติขึ้น เพื่อกำหนดความประพฤติของพลเมืองในสังคมของตน  ถ้าไม่ปฏิบัติตามย่อมถือเป็นความผิดและต้องได้รับโทษ


ลักษณะสำคัญและบทบาทของกฎหมาย

ลักษณะสำคัญของกฎหมาย   กฎหมายประกอบด้วยลักษณะสำคัญ  4  ประการ  คือ
1.  เป็นข้อบังคับของรัฐ  มาจากรัฐาธิปัตย์คือผู้มีอำนาจสูงสุดของรัฐซึ่งจะเป็นใคร  ย่อมขึ้นอยู่กับระบบการเมืองการปกครอง  ระบบเศรษฐกิจของสังคมนั้นๆ   ปกติในระบอบประชาธิปไตยคือ ประชาชน  ในระบอบเผด็จการคือหัวหน้าคณะปฏิวัติ หรือหัวหน้าคณะรัฐประหารในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชก็คือพระมหากษัตริย์
2.  เป็นคำสั่งหรือข้อบังคับที่ใช้เป็นการทั่วไป  ภายในเขตของรัฐนั้นๆ   อย่างเสมอภาคและเท่าเทียมกัน
3.  เป็นคำสั่งหรือข้อบังคับที่ใช้ได้เสมอจนกว่าจะมีการยกเลิก  เช่น คำสั่งคณะปฏิวัติแม้เวลาจะเปลี่ยนแปลงไปก็ยังคงใช้อยู่ต่อไป
4.  เป็นข้อบังคับหรือคำสั่งที่ประชาชนต้องปฏิบัติตาม  ผู้ฝ่าฝืนจะถูกลงโทษ  กฎหมายจึงมีสภาพบังคับคือการลงโทษผู้กระทำผิด  สภาพบังคับนี้เองที่ทำให้กฎหมายศักดิ์สิทธิ์
หมายเหตุ  กฎหมายบางฉบับอาจมีลักษณะไม่ครบทั้ง  4  ประการ  ที่กล่าวมาก็ถือว่าเป็นกฎหมาย  เช่น  กฎหมายที่ออกตามแบบพิธี    คือออกตามวิธีการบัญญัติกฎหมาย   ไม่คำนึงว่าเนื้อหาจะเป็นกฎหมายหรือไม่


ประเภทของกฎหมาย

เนื่องจากกฎหมายมีความสำคัญ   และจำเป็นต่อการดำเนินชีวิตของบุคคล   กฎหมายที่ใช้อยู่มีมากมายหลายลักษณะ    จึงจำเป็นต้องจัดแบ่งกฎหมายออกเป็นประเภท  เพื่อความสะดวกในการศึกษาค้นคว้า  และง่ายต่อการเข้าใจ   การจัดแบ่งประเภทของกฎหมายมีหลายรูปแบบดังนี้  คือ

แบ่งที่มาของกฎหมาย  มี 2 ประเภท  คือ
1.  กฎหมายลายลักษณ์อักษร  หมายถึง กฎหมายที่ร่างขึ้นเป็นตัวบทกฎหมายหรือตัวหนังสือและดำเนินการผ่านขั้นตอนอย่างมีระเบียบแบบแผน  มีที่มาจากการบัญญัติของบุคคลหรือองค์กรที่มีอำนาจสูงสุดในรัฐหรือประเทศ  ประเทศที่ใช้กฎหมายแบบนี้  เช่น  ฝรั่งเศส  เยอรมัน  อิตาลี  ญี่ปุ่น  ไทย  เป็นต้น
2.  กฎหมายไม่เป็นลายลักษณ์อักษร  หมายถึง  กฎหมายที่ไม่ได้ร่างขึ้นเป็นตัวบทกฎหมายหรือตัวหนังสือและไม่ได้ดำเนินการผ่านขั้นตอนอย่างมีระเบียบแบบแผน  การตัดสินหรือวินิจฉัยยึดเอาจารีตประเพณีเป็นหลัก  จึงมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า  กฎหมายจารีตประเพณี  ประเทศที่ใช้กฎหมายประเภทนี้  เช่น  อังกฤษ  ออสเตรเลีย  นิวซีแลนด์  เป็นต้น

แบ่งกฎหมายตามลักษณะความสัมพันธ์  ดังนี้คือ
1. กฎหมายเอกชน   หมายถึง   กฎหมายที่บัญญัติถึงความสัมพันธ์ระหว่างเอกชนกับเอกชนในฐานะที่เท่าเทียมกัน
ประเภทของกฎหมายเอกชน  แบ่งออกเป็น 2  ประเภท  คือ
1.1  ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  หมายถึง   เป็นกฎหมายระหว่างเอกชนต่อเอกชนว่าด้วยสิทธิหน้าที่และความรับผิดชอบของบุคคลทั่วไป มีบทบัญญัติเกี่ยวกับเรื่องทางแพ่ง และทางพาณิชย์เข้าไว้ด้วยกันเป็นหมวดหมู่  ประกอบด้วยสาระ  6  บรรพ  คือ
บรรพ  1  เป็นบทบัญญัติทั่วไป    เกี่ยวกับบุคคลและสิ่งที่บุคคลต้องเกี่ยวข้องในชีวิตประจำวัน   นับตั้งแต่   สภาพบุคคล   ประเภทบุคคล  ทรัพย์และนิติกรรม  ความสามารถของบุคคล
บรรพ  2  ว่าด้วยเรื่องหนี้
บรรพ  3  ว่าด้วยเอกเทศสัญญา   23  ประเภท   เช่น สัญญาซื้อขาย   สัญญาเช่าทรัพย์   สัญญาค้ำประกัน  สัญญาหุ้นส่วนบริษัท  เป็นต้น
บรรพ  4  เป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับทรัพย์สินและสิทธิต่างๆ   เกี่ยวกับทรัพย์สิน  เช่น  สิทธิครอบครอง  สิทธิอาศัย  เป็นต้น
บรรพ  5  เป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับครอบครัว  เริ่มตั้งแต่การหมั่น  ความสัมพันธ์ระหว่างสามีภรรยา   บิดามารดากับบุตร   บุตรบุญธรรม  ทรัพย์สินระหว่างสามี  และภรรยา  ค่าอุปการะเลี้ยงดู
บรรพ  6  เป็นบทบัญญัติว่าด้วยเรื่องมรดก   ตั้งแต่การตกทอดแห่งทรัพย์มรดกการเป็นทายาท   สิทธิโดยธรรมในการรับมรดกพินัยกรรมวิธีการจัดการแบ่งและแบ่งปันทรัพย์มรดกการจัดการกับมรดกที่ไม่มีผู้รับ
1.2  กฎหมายอื่นๆ  ที่กำหนดสิทธิหน้าที่  และความเกี่ยวพันระหว่างเอกชนด้วยกันในทางแพ่ง  เช่น ประมวลกฎหมายที่ดิน   พระราชบัญญัติล้มละลาย  เป็นต้น
2.  กฎหมายมหาชน  หมายถึง  เป็นกฎหมายระหว่างบุคคลต่อบุคคลในทางการค้า อุตสาหกรรม การกสิกรรม และการธนาคาร หรือกฎหมายระหว่างรัฐกับเอกชน   หรือระหว่างองค์กรของรัฐกับเอกชนในฐานะที่ฝ่ายหนึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจ และอีกฝ่ายหนึ่งเป็นผู้อยู่ใต้อำนาจปกครอง  กฎหมายมหาชนแบ่งออกเป็น
1.  กฎหมายอาญา  คือ  กฎหมายที่บัญญัติถึงความผิด และลักษณะโทษที่ผู้กระทำผิดจะได้รับ
2.  กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา  เป็นกฎหมายว่าด้วยการจับกุมคุมขัง  การฟ้องร้อง  และการพิจารณาพิพากษา
3.  กฎหมายปกครอง  เป็นกฎหมายที่ว่าด้วยการจัดระเบียบทางการปกครองของประเทศ  หรือการบริหารราชการ แบ่งเป็น 3 ส่วน คือ  ส่วนกลาง  ส่วนภูมิภาค  และส่วนท้องถิ่น
4.  กฎหมายรัฐธรรมนูญ  เป็นกฎหมายสูงสุดว่าด้วยการจัดระเบียบการปกครอง
5.  พระธรรมนูญศาลยุติธรรม
3.  กฎหมายระหว่างประเทศ  คือกฎหมายที่ว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับรัฐ   หรือประชาชนในรัฐหนึ่งต่อประชาชนในอีกรัฐหนึ่ง  แยกเป็น  3  แผนก  คือ
3.1  กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีเมือง
3.2  กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล
3.3  กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีอาญา

แบ่งแยกตามลักษณะแห่งการใช้  ได้แก่
1.1  กฎหมายสารบัญญัติ  เป็นกฎหมายที่กล่าวถึงสิทธิและหน้าที่ของบุคคลโดยตรงทั้งทางแพ่งและทางอาญา   ได้แก่ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์   กฎหมายอื่นๆ  ซึ่งกำหนดสิทธิและหน้าที่ของบุคคลในทางแพ่ง  เช่น  พ.ร.บ.  แรงงาน   พ.ร.บ. ควบคุมการเช่านา  เป็นต้น  ประมวลกฎหมายอาญา  กฎหมายอื่นๆ  ซึ่งกำหนดความผิดและโทษทางอาญาไว้  เช่น  พ.ร.บ. จราจร,  พ.ร.บ. การทะเบียนราษฎร์ ,  พ.ร.บ. อาวุธปืน  เป็นต้น
1.2  กฎหมายวิธีสบัญญัติ  เป็นกฎหมายที่กล่าวถึงการนำกฎหมายสารบัญญัติ  มาใช้บังคับแก่คู่กรณีทั้งทางแพ่งและทางอาญา  เพื่อให้กฎหมายสารบัญญัติมีผลบังคับเด็ดขาดและจริงจังได้แก่  ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา   พระธรรมนูญศาลยุติธรรม   กฎหมายราชทัณฑ์ เป็นต้น

ลำดับขั้นของกฎหมาย  เราสามารถจัดลำดับตามความสำคัญของกฎหมายได้ดังนี้
1.  รัฐธรรมนูญ   คือ กฎหมายสูงสุดที่ใช้ในการปกครองประเทศ  กฎหมายใดจะมีบทบัญญัติขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญไม่ได้ 2.  พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)  คือ  กฎหมายที่พระมหากษัตริย์ทรงตราขึ้นโดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา  เป็นกฎหมายที่สำคัญรองลงมาจากกฎหมายรัฐธรรมนูญ  เนื่องจากบังคับใช้ในปัจจุบัน 3. ประมวลกฎหมาย  คือ กฎหมายลายลักษณ์อักษรที่ได้บัญญัติ หรือตราขึ้นโดยรวบรวมเอาบัญญัติของกฎหมายที่เป็นเรื่องเดียวกันมาวางหลักเกณฑ์ให้เป็นหมวดหมู่เป็นระเบียบ  เช่น ประมวลกฎหมายอาญา  ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ประมวลกฎหมายรัษฎากร  ฐานะของประมวลกฎหมายเท่าเทียมกับพระราชบัญญัติ 4. พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) เป็นกฎหมายที่พระมหากษัตริย์ทรงตราขึ้น โดยคำแนะนำของรัฐมนตรี การตราพระราชกำหนดเป็นการออกกฎหมายโดยฝ่ายบริหาร  หรือคระรัฐมนตรี  มีหลักเกณฑ์ในการออกกฎหมายดังนี้

  • คณะรัฐมนตรีเห็นว่าเป็นการฉุกเฉินเร่งด่วน  หลีกเลี่ยงไม่ได้
  • รักษาความปลอดภัยของประเทศ   
  • รักษาความปลอดภัยของสาธารณะ  
  • เกี่ยวกับภาษีอากร หรือเงินตรา เช่น  การลดค่าเงินบาท  
  • เกี่ยวกับการักษาผลประโยชน์ของแผ่นดิน


หลังจากประกาศใช้พระราชกำหนดโดยประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา ผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ  คือ นายกรัฐมนตรี  หลังจากการประกาศใช้แล้ว ก็เสนอพระราชกำหนดต่อรัฐสภาทันที  ถ้ารัฐสภา อนุมัติก็ประกาศใช้เป็นพระราชบัญญัติ  ถ้าไม่อนุมัติพระราชกำหนดก็จะตกไป  แต่กิจการใดที่ได้ทำไปหลังจากพระราชกำหนดประกาศใช้ถือเป็นสภาพเดิม   ไม่มีการยกเลิก  พระราชกำหนดล่าสุดที่รัฐบาลออก คือ พระราชกำหนดเกี่ยวกับการก่อการร้าย 5.  พระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.)  เป็นกฎหมายที่พระมหากษัตริย์ทรงตราขึ้นตามคำแนะนำของฝ่ายบริหาร  คือ คณะรัฐมนตรี   การออกพระราชกฤษฎีกาจะออตรมกฎหมายแม่บท  คือ พระราชบัญญัติที่ให้อำนาจไว้ พระราชกฤษฎีกาจะออกมาขัดแย้งกับกฎหมายแม่บทไม่ได้  เพราะเป็นกฎหมายบริวาร  ถ้าพระราชบัญญัติที่เป็นแม่บทถูกยกเลิก พระกฤษฎีกาก็จะถูกยกเลิกไปด้วย  การประกาศใช้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา



ที่มา และวิวัฒนาการของกฎหมาย

ที่มาของกฎหมาย
การศึกษาที่มาของกฎหมาย   หมายถึงการศึกษาว่าสิ่งที่บัญญัติเป็นกฎหมายนำมาจากที่ไหนหรืออะไร  ซึ่งสรุปที่มาได้  2  ระดับคือ
1.  ที่มาหลัก  มาจากรัฐาธิปัตย์
2.  ที่มารอง  ได้แก่
2.1  ศีลธรรม  ศีลธรรมเป็นสิ่งที่กำหนดความประพฤติของมนุษย์ในสังคมว่า สิ่งใดควรทำสิ่งใดไม่ควรทำซึ่งแต่ละสังคมย่อมแตกต่างกันออกไป  อาทิเช่น   ในสังคมหนึ่งเห็นว่าการชนไก่   กัดปลาเป็นการพักผ่อน  ในขณะที่อีกสังคมหนึ่งเห็นว่าเป็นการทารุณสัตว์ผิดศีลธรรม  สิ่งเหล่านี้อาจพัฒนาไปเป็นกฎหมายเมื่อได้รับการยอมรับจากรัฐาธิปัตย์  และตราออกมาเป็นคำสั่งที่มีสภาพบังคับทางกฎหมาย
2.2   ข้อบัญญัติทางศาสนา  ศาสนาเป็นกฎข้อบังคับที่ศาสดาต่างๆ  ได้กำหนดไว้เพื่อให้มนุษย์ได้ประพฤติสิ่งที่เป็นคุณงามความดี  มีบทลงโทษที่มุ่งการลงโทษทางใจ   แต่ข้อบังคับของศาสนาย่อมต้องได้รับอำนาจจากบ้านเมือง  หรือรัฐาธิปัตย์ที่จะให้ใช้บังคับ   เช่น  ศาสนาอิสลาม   เป็นต้น ข้อบัญญัติทางศาสนาจึงจัดว่าเป็นกฎหมายได้
2.3  จารีตประเพณี  จารีตประเพณี  เป็นระเบียบแบบแผนที่มนุษย์ได้ปฏิบัติกันมาอย่างต่อเนื่องมานานพอสมควรเป็นการทั่วไป    เช่น  จารีตประเพณีของภาคเหนือทั่วไปกินข้าวนึ่ง  เป็นต้น  จารีตประเพณีจึงเป็นแบบแผนที่กำหนดวิถีชีวิตของสังคม   ตั้งแต่ตื่นนอนจนเข้านอนเป็นที่ยอมรับการฝ่าฝืนย่อมได้รับคำติเตียนนินทาจากผู้อื่น   จารีตประเพณีที่ถูกบัญญัติเป็นกฎหมาย   เช่น ให้ผู้ชายที่นับถือพุทธศาสตร์ลาราชการเพื่อบวชได้   โดยไม่เสียเงินเดือนหรือสิทธิอื่นๆ   ในระหว่างการลาบวช
2.4  คำพิพากษาของศาล  ใช้ในกรณีที่กฎหมายระบุไว้ไม่ชัดเจน  ศาลพิจารณาพิพากษาคดีโดยการตีความกฎหมายนั้น  เมื่อศาลวางคำพิพากษาออกมาจนเป็นบรรทัดฐาน   รัฐาธิปัตย์  อาจนำเอาคำพิพากษาของศาลไปบัญญัติเป็นกฎหมายต่อไปได้
2.5   กฎหมายลายลักษณ์อักษร  คือกฎหมายที่มีอยู่แล้วใช้เป็นแม่บทของกฎหมายอื่นๆ  ได้  เช่น  รัฐธรรมนูญเป็นที่มาของกฎหมายอื่นได้เช่นกัน
2.6   ความยุติธรรม  หมายถึงข้อยุติที่ถูกต้อง  ใช้เหตุผลแยกออกเป็น
2.6.1   ความยุติธรรมตามธรรมชาติ   เกิดมาจากความรู้สึกนึกคิด   หรือเหตุผลของความคิดคนโดยธรรมชาติ
2.6.2  ความยุติธรรมกำหนดขึ้น เป็นความยุติธรรมที่มีการรองรับว่า   ถูกต้องเป็นธรรม และกำหนดเป็นกฎแห่งความยุติธรรมต่างๆ   เช่น  หลักสุภาษิตกฎหมายที่ว่าบุคคลย่อมตัดสินตนเองไม่ได้  ผู้รับโอนย่อมไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน

วิวัฒนาการของกฎหมาย

การศึกษาเรื่องวิวัฒนาการของกฎหมาย   แบ่งออกเป็นวิวัฒนาการของกฎหมายไทยและวิวัฒนาการของกฎหมายสากล   ดังจะแยกกล่าวดังต่อไปนี้
1.  วิวัฒนาการของกฎหมายสากล  การแบ่งกลุ่มกฎหมายตามหลักสากล   พิจารณาจากโครงสร้างของระบบเศรษฐกิจ การเมืองและสังคม   และดูจากปรัชญาหลักทางเศรษฐกิจและสังคมจึงแบ่งกลุ่มกฎหมายออกเป็น  4  กลุ่ม  คือ  
1.1  กลุ่มกฎหมายโรมัน  หรือ  กลุ่มกฎหมายที่เป็นลายลักษณ์อักษร  มีแหล่งกำเนิดในยุโรป  เรียกว่า กลุ่มกฎหมายโรมัน-เยอรมัน  เพื่อเป็นเกียรติแต่กลุ่มประเทศลาติน   และเยอรมันที่ทำให้กฎหมายสิบสองโต๊ะ  ประมวลกฎหมายของพระเจ้าจัสติเนียน   กลุ่มประเทศที่รับกฎหมายกลุ่มนี้ไปใช้  ได้แก่  ประเทศส่วนใหญ่ในยุโรป   เอเชียตะวันออกใกล้ไทย  เป็นต้น
1.2  กลุ่มกฎหมายคอมมอนลอว์  หรือกฎหมายจารีตประเพณี   เป็นกฎหมายที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษร  อังกฤษเป็นหัวหน้ากลุ่ม  บางครั้งเรียกว่ากลุ่มกฎหมายเองโกลแซกซอน   เริ่มจัดทำขึ้นเมื่อปี  ค.ศ.600  หลักในการพิพากษาคดีในกลุ่มกฎหมายจารีประเพณียึดเอาคำพิพากษาตัดสินคดีของศาลแต่ละครั้งไป   โดยสรุปกฎหมายจารีตประเพณีจึงมาจาก
1.2.1  คำพิพากษาของศาล
1.2.2  กฎหมายที่รัฐสภาบัญญัติ
1.2.3  ขนบธรรมเนียมประเพณี
1.2.4   ความยุติธรรม หรือ “เหตุผล”
1.3  กลุ่มกฎหมายสังคมนิยม  มีกำเนิดในรัสเซียในปี ค.ศ.1917  เมื่อรัสเซียปฏิวัติระบอบ              สมบูรณาญาสิทธิราชถูกเปลี่ยนไปเป็นระบอบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์   ตามแนวทฤษฏีมาร์กซิสม์ – เลนินนิสม์ กลุ่มนี้เน้นส่วนรวมทำให้กฎหมายมหาชนสำคัญมากกว่ากฎหมายเอกชนใช้อยู่ในย่านยุโรปตะวันออก  บางประเทศในอินโดจีน เป็นต้น
1.4  กลุ่มกฎหมายศาสนาหรือปรัชญา  โดยข้อเท็จจริงกลุ่มนี้ไม่ใช่กฎหมายเป็นเพียงการระบุหน้าที่มากกว่าการคำนึงถึงสิทธิ  แต่ยังไม่อาจจะหาคำอื่นที่เหมาะสมมาใช้แทนนั้น  ดินแดนที่ใช้กลุ่มกฎหมายศาสนาคือ   ดินแดนที่อารยธรรมตะวันตกแทรกเข้าไปไม่ถึง  เนื่องจากความศรัทธาและความเชื่อทางศาสนาเป็นสิ่งปิดกั้น   มีรูปแบบของอารยธรรมที่มั่นคงอยู่แล้ว  ตัวอย่าง  เช่น  กฎหมายอิสลาม   กฎหมายฮินดู  กฎหมายยิว


วิวัฒนาการของกฎหมายไทย

กฎหมายไทยได้มีวิวัฒนาการมาหลายยุคหลายสมัย   ดังนี้คือ
1.  สมัยสุโขทัย  หลักฐานกฎหมายที่พบได้แก่  หลักศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหง  ซึ่งถูกจัดเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรก   และมีมังรายศาสตร์   ซึ่งใช้อยู่ในอาณาจักรล้านนา
2.  สมัยกรุงศรีอยุธยา  มีกฎหมายต่างๆ  คือ
2.1  พระธรรมศาสตร์  เป็นหลักธรรมสำหรับผู้พิพากษา
2.2  กฎหมายสารบัญญัติ   อาทิเช่น อาญาหลวง  อาญาราษฎร์   กฎหมายผัวเมีย  เป็นต้น
2.3  กฎหมายวิธีสบัญญัติ  เช่น  กฎหมายลักษณะพระธรรมนูญ   กฎหมายรับฟ้อง  และกฎหมายอุทธรณ์  เป็นต้น
2.4  กฎหมายปกครอง
3.  สมัยรัตนโกสินทร์   แยกพิจารณาได้ดังต่อไปนี้คือ
3.1  สมัยรัชกาลที่  1  ได้มีการรวบรวมกฎหมายใหม่เพราะของเดิมสูญหายจากการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่  2  แก่พม่า  ในปี  พ.ศ.2347   เรียกชื่อว่า  “กฎหมายตราสามดวง”    ประทับตราราชสีห์  คชสีห์และบัวแก้ว   ใช้อยู่จนถึงรัชกาลที่  4  มีสาระว่าด้วยบทบัญญัติเกี่ยวกับการปกครอง   กฎมณเฑียรบาลการจัดระเบียบชนชั้นทางสังคม   สิทธิและหน้าที่ของประชาชนในทางแพ่งและความผิดทางอาญาศักดินาพลเรือนและทหาร   ครอบครัวมรดก   วิธีพิจารณาความ เป็นต้น
3.2  สมัยรัชกาลที่  5  มีการปฏิรูปกฎหมายใหม่  อันเป็นผลมาจากการเปิดเทศติดต่อกับชาติตะวันตกในสมัยรัชกาลที่  4  ทำให้อิทธิพลของตะวันตกเข้ามามีบทบาทในสังคมไทยมาขึ้น  จึงมีการยกเลิกการไต่สวนคดีแบบจารีตนครบาลและชำระกฎหมายใหม่ครั้งใหญ่  กฎหมายที่ชำระใหม่เรียกว่า  “กฎหมายราชบุรี”  ตามพระนามของพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์  ซึ่งเป็นผู้ที่มีบทบาทในการวางรากฐานกฎหมายไทยและได้รับยกย่องให้เป็นบิดาแห่งกฎหมาย  มีการจัดทำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์   ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความพระธรรมนูญศาลยุติธรรม  ประมวลกฎหมายอาญา   กฎหมายเหล่านี้ไปเสร็จสมบูรณ์  ในสมัยรัชกาลที่  8  ในปี  พ.ศ. 2478  นอกจากนี้ยังได้มีการจัดตั้งโรงเรียนสอนกฎหมายอีกด้วย
3.3  สมัยหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475  ยังคงใช้ประมวลกฎหมายที่ร่างเสร็จในปี  พ.ศ.2478  ภายใต้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตย   อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข มีการเพิ่มเติมกฎหมายบางฉบับตามสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป   เช่น  กฎหมายแรงงาน  ประมวลกฎหมายอาญา  เป็นต้น

ที่มาของกฎหมายในประเทศไทย  มีที่มาดังนี้
1.  บ่อเกิดในลักษณะเป็นกฎหมายที่มิได้บัญญัติขึ้น
2.  บ่อเกิดในลักษณะเป็นกฎหมายที่บัญญัติขึ้น
1.  กฎหมายในส่วนที่มิได้บัญญัติขึ้น  เดิมเรียกว่า  กฎหมายจารีตประเพณีในความหมายอย่างกว้าง   และเรียกว่า   กฎหมายที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษรประกอบด้วย
1.1  กฎหมายประเพณี  หมายถึง  กฎหมายประเพณีในความหมายอย่างแคบต้องมีลักษณะเป็นจารีตประเพณีบางอย่างกฎหมายไม่ได้บัญญัติ  หรือเขียนไว้เป็นลายลักษณ์อักษรแต่มีผลบังคับทางกฎหมาย  เช่น  การผ่าตัดคนไข้เพื่อรักษาของแพทย์    การทำให้ผู้อื่นบาดเจ็บในการเล่นฟุตบอลตามกติกา   การชกมวยตามกติกา  การกระทำเหล่านี้เข้าข่ายองค์ประกอบความผิดฐานทำร้ายร่างกายตามประมวลกฎหมายอาญา    แต่ไม่มีความผิดเพราะมีประเพณีที่ยอมรับกันทั่วไปให้ทำได้โดยชอบ    
1.2  คำพิพากษาบรรทัดฐานของศาล  มี  2  ระบบคือ
ระบบกฎหมายของอังกฤษ  และอเมริการวมทั้งประเทศที่ใช้กฎหมายอังกฤษ  เช่น อินเดีย   สิงคโปร์  มาเลเซีย   เป็นต้น  คือระบบที่ถือว่าคำพิพากษาเป็นกฎหมาย
ระบบกฎหมายภาคพื้นยุโรป    เช่น  ฝรั่งเศส   เยอรมัน  ไทย  เกาหลี  ญี่ปุ่น  ถือว่าคำพิพากษาศาลเป็นเพียงการใช้กฎหมายที่มีอยู่มาปรับคดีที่เกิดขึ้นเฉพาะคดีเท่านั้น   กลุ่มนี้จึงไม่ถือว่าคำพิพากษาของศาลเป็นบ่อเกิดของกฎหมาย
1.3  หลักกฎหมายทั่วไป  คือหลักกฎหมายที่มีใช้อยู่ในสังคมนั้นในลักษณะกฎหมายลายลักษณ์อักษร   ซึ่งโดยข้อเท็จจริง   กฎหมายหลักเหล่านี้มีอยู่จำนวนน้อยมาก  เช่น   ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์   เรื่องนิติกรรมสัญญามีหลักว่าบุคคลต้องปฏิบัติตามสัญญาอันเป็นหลักการที่เกิดจากหลักศีลธรรมที่ว่า คนพูดสิ่งใด
แล้วต้องรับผิดชอบรักษาคำพูดของตน
แต่ในกรณีที่หลักกฎหมายทั่วไปที่เป็นลายลักษณ์อักษรไม่มี  ศาลจะปฏิเสธไม่รับพิจารณาพิพากษาคดีไม่ได้    ต้องค้นหากฎหมายทั่วไปจากหลักความยุติธรรมตามธรรมชาติ   ซึ่งได้แก่  ความเป็นธรรม  ความผิดชอบชั่วดีในตัวบุคคล   และจากหลักเหตุผลของเรื่อง
2.  บ่อเกิดของกฎหมายที่บัญญัติขึ้น  ซึ่งเดิมเรียกว่า กฎหมายลายลักษณ์อักษร  เป็นกฎหมายที่บัญญัติขึ้นตามกระบวนการนิติบัญญัติ  ซึ่งผู้บัญญัติ ต้องเป็นผู้มีอำนาจหรือมีความชอบธรรมที่จะบัญญัติหลักพิจารณาความสมบูรณ์ของกฎหมายลายลักษณ์อักษร คือ
2.1  ผู้บัญญัติกฎหมายมีอำนาจโดยชอบธรรมหรือไม่
2.2  การบัญญัติกระทำถูกต้องตามพิธีการหรือกระบวนการหรือไม่
2.3  การประกาศใช้กฎหมายได้กระทำโดยชอบหรือไม่
2.4  มีกฎหมายอื่นมาเปลี่ยนแปลงยกเลิกหรือไม่
บ่อเกิดของกฎหมายลายลักษณ์อักษร   มาจากหลายแหล่งตามอำนาจของผู้บัญญัติกฎหมาย  คือ
2.1  จากฝ่ายนิติบัญญัติ  ได้แก่   พระราชบัญญัติ  บัญญัติโดยองค์กรของรัฐที่มีหน้าที่โดยตรงในการออกแบบกฎหมาย    จึงจัดว่าเป็นกฎหมายแท้
2.2  จากฝ่ายบริหาร    โดยหลักทั่วไปฝ่ายบริหารไม่มีหน้าที่ในด้านนิติบัญญัติ  แต่ในบางวาระฝ่ายบริหารมีความจำเป็นที่จะต้องออกกฎหมาย   เช่น
2.2.1  พระราชกำหนด    ในกรณีที่มีความจำเป็นรีบด่วน  ในอันที่จะรักษาความปลอดภัยของประเทศ    ภัยสาธารณะ
2.2.2  กฎหมายที่เกี่ยวกับภาษี   ที่ต้องได้รับการพิจารณาโดยด่วนและลับ
2.2.3  พระราชกฤษฎีกา หรือกฎกระทรวงและกฎหมายที่องค์กร   ปกครองตนเองเป็นผู้-บัญญัติ    กฎหมายประเภทนี้  ฝ่ายบริหารได้รับมอบอำนาจจากรัฐสภาในการตราออกมาบังคับได้
2.2.4  สัญญาระหว่างประเทศ    กฎหมายประเภทนี้อาจเป็นกฎหมายภายในประเทศหรือไม่ขึ้นอยู่กับบทบัญญัติของแต่ละประเทศ   เช่น  ในประเทศอังกฤษถือว่าไม่เป็น   ในประเทศเยอรมันถือว่าเป็น
วันที่เริ่มต้นใช้กฎหมาย
กฎหมายที่มีผลบังคับใช้นับจากวันที่ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา  ซึ่งเป็นหนังสือของราชการที่รวบ
รวมประกาศและกฎหมายของทางราชการ มีการใช้ครั้งแรกในรัชกาลที่  4  และ  ใช้ต่อมาจนถึงปัจจุบัน   กฎหมายมีผลบังคับใช้นับจากวันที่ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาแล้ว  1 วันและใช้บังคับกับบุคคลทุกคนที่อยู่ในรัฐนั้น ๆ   ยกเว้นบุคคลบางประเภท  ได้แก่
1.  ประมุขของรัฐต่างประเทศ
2.  พระมหากษัตริย์
3.  สมาชิกรัฐสภาในระหว่างสมัยประชุม   เมื่อแสดงความคิดเห็นในขณะประชุม  ผู้ใดจะนำไปเป็นเหตุฟ้องร้องมิได้
4.  เจ้าหน้าที่ขององค์การระหว่างประเทศที่ทำหน้าที่ปฏิบัติการในรัฐใดรัฐหนึ่ง  ไม่ต้องเสียรัษฎากรประเภทต่างๆ








Google Maps Generator by RegioHelden




powered by Surfing Waves


Total Rating ✔

9.2 stars – 2,789 reviews

More Reviews

แสดงความคิดเห็น

สรุปวิชาสังคมศึกษา เรื่องความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับกฎหมาย

สรุปสังคมศึกษา ม.ต้น, doc