สำรวจ
รีวิว
สอบเข้า
ออนไลน์

ครูสอนพิเศษ คุณภาพอันดับ1

หาครูสอนพิเศษตัวต่อตัว คลิกเลย

ค้นหาด้วยเสียง
ค้นหาด้วยเสียงคลิกที่นี่

» » กำหนดการ พระราชพิธีบรมราชาภิเษก ร.10 และ10 สิ่งในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ที่ประชาชาชาวไทยควรรู้

03 พฤษภาคม 2562

กำหนดการ พระราชพิธีบรมราชาภิเษก ร.10 และ10 สิ่งในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ที่ประชาชาชาวไทยควรรู้

พระราชพิธีบรมราชาภิเษกเป็นโบราณราชประเพณีที่ต้องทำเพื่อความเป็นพระมหากษัตริย์อย่างสมบูรณ์

กำหนดการ พระราชพิธีบรมราชาภิเษก ร.10 และ10 สิ่งในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ที่ประชาชาชาวไทยควรรู้

พระราชพิธีบรมราชาภิเษก ร.10

พระราชพิธีบรมราชาภิเษกเป็นโบราณราชประเพณีที่ต้องทำเพื่อความเป็นพระมหากษัตริย์อย่างสมบูรณ์


ดังความใน ‘จดหมายเหตุพระราชพิธีบรมราชาภิเษก สมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว’ ว่า

“…ตามราชประเพณีในสยามประเทศนี้ ถือเป็นตำรามาแต่โบราณว่าพระมหากษัตริย์ซึ่งเสด็จผ่านพิภพต้องทำพระราชพิธีบรมราชาภิเษกก่อน จึงจะเป็นพระราชาธิบดีโดยสมบูรณ์”

พระราชพิธีบรมราชาภิเษกจัดว่าเป็นพิธีสำคัญของทุกประเทศที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ด้วยพิธีการนี้เป็นการเฉลิมพระเกียรติยศอย่างเป็นทางการว่าองค์พระประมุขพระองค์ใหม่ได้ทรงรับสมมติเป็นพระราชาธิบดีหรือพระเจ้าแผ่นดินของประเทศนั้นแล้วโดยบริบูรณ์

คณะกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์งานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ได้เผยแพร่หมายกำหนดการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ดังนี้...

กำหนดการ พระราชพิธีบรมราชาภิเษก ร.10


เดือนเมษายน 2562


 - วันที่ 6 เมษายน พลีกรรมตักน้ำจากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์
 - วันที่ 8 เมษายน ประธานสงฆ์ประกาศชุมนุมเทวดา ในพิธีทำน้ำอภิเษกและจุดเทียนชัย
 - วันที่ 9 เมษายน ดับเทียนชัย เวียนเทียนสมโภชน้ำอภิเษก
 - วันที่ 18 เมษายน เสลกน้ำอภิเษกรวมจากกรุงเทพฯ และ 76 จังหวัด และประกาศชุมนุมเทวดา ทำน้ำเทพมนตร์ เจริญพระพุทธมนต์ ทำน้ำพระพุทธมนต์
 - วันที่ 19 เมษายน แห่เชิญน้ำอภิเษกจาก วัดสุทัศนเทพวราราม ไปยัง วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
 - วันที่ 22 เมษายน พระสงฆ์ 10 รูป เจริญพระพุทธมนต์
 - วันที่ 23 เมษายน จารึกพระสุพรรณบัฏ ดวงพระราชสมภพ แกะพระราชลัญจกร และจารึกพระสุพรรณบัฏพระบรมวงศ์ ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม


เดือนพฤษภาคม 2562 


 - วันที่ 2 พฤษภาคม สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปทรงถวายราชสักการะพระบรมราชานุสรณ์ พระลานพระราชวังดุสิต ปฐมบรมราชานุสรณ์สะพานพระพุทธยอดฟ้า และเสด็จพระราชดำเนินบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์
- วันที่ 3 พฤษภาคม เชิญพระสุพรรณบัฏ ดวงพระราชสมภพและพระราชลัญจกร ไปยังพระที่นั่งไพศาลทักษิณ จากนั้นเสด็จพระราชดำเนินไปทรงนมัสการพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร นมัสการพระรัตนตรัย ถวายบังคมพระบรมอัฐิและพระอัฐิ และจุดเทียนชัย
- วันที่ 4 พฤษภาคม เป็นพระราชพิธีบรมราชาภิเษก สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จออกมหาสมาคมรับการถวายพระพรชัยมงคล ประกาศพระองค์เป็นศาสนูปถัมภก ถวายบังคมพระบรมอัฐิและพระอัฐิ สดับปกรณ์ และเฉลิมพระราชมณเฑียร
 - วันที่ 5 พฤษภาคม เป็นพระราชพิธีเฉลิมพระปรมาภิไธย พระนามาภิไธย สถาปนาพระฐานันดรศักดิ์พระบรมวงศ์ และเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยขบวนพยุหยาตราสถลมารค
- วันที่ 6 พฤษภาคม เสด็จออก ณ สีหบัญชร พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาท ให้ประชาชนเฝ้าฯ ถวายพระพรชัยมงคล จากนั้นเสด็จออก ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ให้คณะทูตานุทูตและกงสุลต่างประเทศเฝ้าฯ ถวายพระพรชัยมงคล


เดือนพฤษภาภม - พฤศจิกายน ขบวนพยุหยาตราชลมารค


ทั้งนี้ คณะกรรมการจัดการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก มีมติให้วันที่ 6 พฤษภาคม 2562 เป็นวันหยุด เพื่อให้การดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ เป็นไปด้วยดี

10 สิ่งในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ที่ประชาชาชาวไทยควรรู้


ข้อมูลที่เป็นสิ่งควรรู้ 10 ประการ


สำหรับการพระราชพิธีที่นับเป็นครั้งแรกของชาวไทยจำนวนมากที่จะได้ร่วมจารึกภาพประวัติศาสตร์และสืบสานความเจริญทางวัฒนธรรมของชาติที่มีมาแล้วหลายร้อยปี

1. พระราชพิธีฯ ครั้งแรกในรอบ 69 ปี หนที่ 12 ของกรุงรัตนโกสินทร์
เนื่องจากพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งสุดท้ายเกิดขึ้นในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2493 นับเนื่องจนถึงปี 2562 ที่จะมีการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งประวัติศาสตร์ที่กำลังจะเกิดขึ้นอีกครั้งในรอบ 69 ปี ซึ่งพสกนิกรชาวไทยจำนวนกว่า 66 ล้านคนจะได้มีโอกาสเป็นประจักษ์พยานและสำแดงความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ร่วมกัน

และหากย้อนดูประวัติศาสตร์การพระราชพิธีนี้ ในยุครัตนโกสินทร์ตั้งแต่รัชกาลที่ 1 จนถึงรัชกาลที่ 9 มีการประกอบพระราชพิธีมาแล้ว 11 ครั้ง ในปี 2562 ที่กำลังจะเกิดขึ้นจึงนับเป็นหนที่ 12 ในรัชสมัยของรัชกาลที่ 10

2. พระราชพิธีฯ ครั้งที่ 2 ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
สำหรับงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในรัชกาลปัจจุบันที่กำลังจะเกิดขึ้น นับว่าเป็นครั้งที่ 2 ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข 

ในรัชสมัยรัชกาลที่ 9 นับเป็นครั้งแรก และหากย้อนไปยังรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงประกอบพระราชพิธีในระบอบราชาธิปไตย ส่วนพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร รัชกาลที่ 8 นั้นยังมิได้ทรงประกอบพระราชพิธีก็สิ้นรัชกาลเสียก่อน ทรงเป็นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจนตลอดรัชกาล และทรงรับเฉลิมพระปรมาภิไธยต่อมาในภายหลังในรัชสมัยของรัชกาลที่ 9

3. พระบาท-เศวตฉัตร-พระบรมราชโองการ 3 สิ่งเปลี่ยนแปลงสำคัญในพระราชพิธีฯ
ตามธรรมเนียมของไทยแต่เดิมนั้น แม้พระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่จะได้สืบราชสันตติวงศ์สืบสนององค์พระมหากษัตริย์ในพระบรมโกศทันทีเมื่อเสด็จสวรรคตก็จริงอยู่ แต่การออกพระปรมาภิไธยจะยังไม่เรียกขานว่า ‘พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว’ โดยทันที หากแต่จะออกพระปรมาภิไธยแต่เพียงว่า ‘สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว’ ไปพลางก่อน

เศวตฉัตรสำหรับสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็มีแต่เพียง 7 ชั้น จะทรงฉัตร 9 ชั้นที่เรียกว่า ‘นพปฎลมหาเศวตฉัตร’ ได้ก็ต้องทรงผ่านพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเสียก่อน

พระนพปฎลมหาเศวตฉัตรคือฉัตร 9 ชั้นหุ้มผ้าขาว ถือเป็นเครื่องราชกกุธภัณฑ์ที่สำคัญยิ่งกว่าราชกกุธภัณฑ์อื่นๆ ใช้ปักหรือแขวนเหนือพระราชอาสน์พระราชบัลลังก์ตามธรรมเนียมแต่โบราณ หากยังไม่เปลี่ยนรัชกาลจะไม่ลดพระมหาเศวตฉัตรลงเด็ดขาด เว้นแต่มีเหตุจำเป็นอันเลี่ยงไม่ได้

คำสั่งของพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ก็ยังไม่เรียกว่า ‘พระบรมราชโองการ’ ตามขนบนิยม จะเรียกก็แต่เพียง ‘พระราชโองการ’ เท่านั้น จนกว่าจะผ่านพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

4. ตำราราชาภิเษก แม่แบบของการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกกรุงรัตนโกสินทร์
เมื่อรัชกาลที่ 1 ทรงสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานีในปี 2325 มีความจำเป็นที่จะต้องมีตำราสำหรับประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในการขึ้นครองราชสมบัติ จึงโปรดเกล้าฯ ให้มีการสืบค้นแต่งตำราตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ซึ่งเรียกชื่อว่า ‘ตำราราชาภิเษกครั้งกรุงศรีอยุธยาฉบับหอหลวง’

การประกอบพระราชพิธีแบบเต็มตำราเกิดขึ้นในรัชกาลแรกในอีก 3 ปีต่อมา เมื่อปี 2328 ซึ่งตรงกับการสมโภชพระนครในปีเดียวกัน

และได้เป็นแม่แบบการพระราชพิธีของราชสำนักสืบปฏิบัติต่อกันมา โดยอาจมีการเปลี่ยนแปลงในรายละเอียดตามพระราชนิยมของแต่รัชกาล

5. น้ำศักดิ์สิทธิ์สู่บรมราชาภิเษก
ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกมีขั้นตอนพิธีที่สำคัญยิ่งคือการสรงพระมุรธาภิเษก (การรดน้ำที่พระเศียร) นับเป็นวินาทีการเปลี่ยนผ่านพระราชสถานะเป็นกษัตริย์อย่างเป็นทางการ และการรับน้ำอภิเษก (การรดน้ำที่พระหัตถ์) ซึ่งได้ปฏิบัติสืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา

รากศัพท์ของคำว่า ‘บรมราชาภิเษก’ ที่มาจากคำว่า ‘อภิเษก’ มีความหมายว่า ‘แต่งตั้งโดยการรดน้ำ’ ดังนั้นพระราชพิธีบรมราชาภิเษกจึงหมายถึงการรดน้ำเพื่อสถาปนาขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ ซึ่งน้ำที่ใช้ในการพระราชพิธีจะต้องผ่านการเสกน้ำพระพุทธมนต์เพื่อความเป็นสิริมงคล

สำหรับการถวายน้ำอภิเษกนั้น รัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประจำทิศทั้ง 8 เป็นผู้ถวายน้ำอภิเษก แต่เดิมคือราชบัณฑิตและพราหมณ์ถวาย เป็นนัยแสดงถึง ‘พระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตย’

น้ำมุรธาภิเษก จะใช้น้ำจากแม่น้ำสำคัญ 5 สาย ‘เบญจสุทธคงคา’ แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำบางปะกง แม่น้ำป่าสัก แม่น้ำราชบุรี และแม่น้ำเพชรบุรี และสระศักดิ์สิทธิ์ 4 แห่งในจังหวัดสุพรรณบุรีคือ สระเกษ สระแก้ว สระคา สระยมนา สำหรับการสรงพระมุรธาภิเษกจะใช้วิธีสหัสธารา (ไขฝักบัว)

น้ำอภิเษก เป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์มาจาก 76 จังหวัดทั่วประเทศ รวม 107 แห่ง นำมารวมกับน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่เก็บไว้ในหอศาสตราคมในพระบรมมหาราชวัง รวมเป็น 108 แห่ง โดยจะมีพิธีพลีกรรมเพื่อตักน้ำ

6. พระมหาพิชัยมงกุฎ ทรงรับมาสวม สำคัญยิ่งต่อพระราชพิธีฯ
พระมหาพิชัยมงกุฎเป็นหนึ่งในเครื่องราชกกุธภัณฑ์ (เครื่องหมายแห่งความเป็นพระมหากษัตริย์) ประเภทราชศิราภรณ์​ คือเครื่องสำหรับประดับพระเศียร สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 เป็นพระมหาพิชัยมงกุฎแบบไทย ลงยาสีเขียวแดง ประดับด้วยเพชรซีก เว้นแต่เพชรเม็ดใหญ่ที่ประดับอยู่บนยอด เรียกว่าพระมหาวิเชียรมณี ประดับเพิ่มเติมเข้าไปในสมัยรัชกาลที่ 4 มีน้ำหนักรวม 7.3 กิโลกรัม ขนาดสูงรวมยอด 66 เซนติเมตร

เมื่อเวลาจะทูลเกล้าฯ ถวาย พระมหาราชครูพราหมณ์จะทูลเกล้าฯ ถวายพร้อมทั้งพาน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรับขึ้นสวมด้วยพระองค์เอง

ขณะที่ทรงรับมาสวมนี้ ในสมัยปัจจุบันถือว่าเป็นขณะที่สำคัญที่สุดแห่งงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เนื่องด้วยในเวลาต่อมาได้รับอิทธิพลจากยุโรป ซึ่งถือคติว่าพระมหากษัตริย์จะทรงดำรงภาวะอันสมบูรณ์สูงสุดก็ต่อเมื่อได้สวมมงกุฎแล้ว

7. พระปฐมบรมราชโองการยาวนานตราบสิ้นรัชสมัย
หลังจากพิธีถวายสิริราชสมบัติและเครื่องราชกกุธภัณฑ์แล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงมีพระปฐมบรมราชโองการพระราชทานอารักขาแก่ประชาชนไทย ซึ่งมีมาตลอดทุกรัชกาล และจะถูกบันทึกไว้อีกยาวนาน

รัชกาลที่ 9 มีพระปฐมบรมราชโองการในวันที่ 5 พฤษภาคม 2493 ว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” แม้จะเป็นข้อความที่สั้น กระชับ แต่แฝงไว้ซึ่งพระราชภาระที่ยิ่งใหญ่

สำหรับรัชกาลที่ 10 ตามหมายกำหนดการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พิธีถวายเครื่องราชกกุธภัณฑ์ และประกาศพระปฐมบรมราชโองการ จะมีขึ้นในช่วงเช้าวันที่ 4 พฤษภาคม

8. องค์อัครศาสนูปถัมภกแห่งพุทธศาสนา
การประกาศพระองค์เป็นองค์อัครศาสนูปถัมภกในพระราชพิธี รัชกาลที่ 6 โปรดให้เริ่มต้นขึ้นและเป็นธรรมเนียมสืบต่อมาในรัชกาลที่ 7 และรัชกาลที่ 9 โดยรัชกาลที่ 10 ตามหมายกำหนดการคือวันที่ 4 พฤษภาคม ซึ่งจะเสด็จพระราชดำเนินโดยขบวนราบใหญ่ไปยังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม

เนื่องจากการอุปถัมภ์พระพุทธศาสนาเป็นพระราชภารกิจสำคัญของพระมหากษัตริย์ซึ่งปรากฏในรูปแบบต่างๆ เช่น การสร้างถาวรวัตถุ หรือการแต่งตั้งเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นต้น

ขณะที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ในมาตรา 7 บัญญัติว่า พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพุทธมามกะ และทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภก

9. การเฉลิมพระราชมณเฑียรดั่งการขึ้นบ้านใหม่
การเฉลิมพระราชมณเฑียรเป็นพระราชพิธีสำคัญเกี่ยวเนื่องกับพระราชพิธีบรมราชาภิเษกอีกพิธีหนึ่ง พระมหากษัตริย์จะเสด็จขึ้นประทับ ณ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน เปรียบเสมือนการ ‘ขึ้นบ้านใหม่’ จากนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะลงบรรทมเหนือพระแท่นราชบรรจถรณ์ ซึ่งเป็นพระแท่นบรรทมของพระมหากษัตริย์ในราชวงศ์จักรีเป็นปฐมฤกษ์ ซึ่งรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระราชินีนาถทรงประทับเพียงหนึ่งราตรี

เครื่องเฉลิมพระราชมณเฑียร ได้แก่ วิฬาร์ (แมว) ศิลาบด พันธุ์พืชมงคล ฟักเขียว กุญแจทอง จั่นหมากทอง ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 4 เริ่มใช้พระแส้หางช้างเผือกผู้ สมัยรัชกาลที่ 7 มีการอุ้มไก่ขาวเข้าร่วมพระราชพิธี ผู้อุ้มไก่ขาวจะเป็นผู้เชิญธารพระกรศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งเป็นหนึ่งในเครื่องราชกกุธภัณฑ์ด้วย

10. เสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครและเสด็จออกสีหบัญชร ประชาชนแซ่ซ้องสรรเสริญ
ตามโบราณราชประเพณี ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระมหากษัตริย์จะเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยขบวนพระราชอิสริยยศ เป็นขบวนพยุหยาตราทั้งทางสถลมารค (ทางบก) และทางชลมารค (ทางน้ำ) เพื่อให้พสกนิกรเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทแสดงความจงรักภักดี

รัชกาลที่ 10 จะเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยขบวนพยุหยาตราทางสถลมารคในวันที่ 5 พฤษภาคม 2562 ไปยังวัดบวรนิเวศวิหาร วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม และวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม แต่ในรัชกาลที่ 9 มิได้เสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร

ส่วนขบวนพยุหยาตราทางชลมารค รัชกาลที่ 10 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีข้ึนหลังการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

กำหนดการ พระราชพิธีบรมราชาภิเษก ร.10 และ10 สิ่งในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ที่ประชาชาชาวไทยควรรู้


ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก รัชกาลที่ 9 เสด็จออก ณ สีหบัญชร พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาท พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เพื่อให้ประชาชนเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายพระพรชัยมงคล

รัชกาลท่ี 10 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พสกนิกรเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายพระพรชัยมงคล ณ สีหบัญชร พระท่ีนั่งสุทไธสวรรย์ปราสาทเช่นเดียวกัน ในวันที่ 6 พฤษภาคม 2562


สำหรับสีหบัญชร คือหน้าต่างของพระที่นั่งที่พระมหากษัตริย์เสด็จออกให้ข้าราชการและประชาชนเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทในโอกาสสำคัญ มีลักษณะเป็นระเบียงยื่นออกไป





Total Rating ✔

9.2 stars – 2,789 reviews

More Reviews

แสดงความคิดเห็น

กำหนดการ พระราชพิธีบรมราชาภิเษก ร.10 และ10 สิ่งในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ที่ประชาชาชาวไทยควรรู้

พระราชพิธีบรมราชาภิเษก, News